นาย Jon Krahn ผู้บริหารของบริษัท Paragon Feed Corp ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสำหรับสัตว์ปีกรายใหญ่ของประเทศแคนาดา
นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นาย Jon Krahn ผู้บริหารของบริษัท Paragon Feed Corp ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสำหรับสัตว์ปีกรายใหญ่ของประเทศแคนาดา เป็นหนึ่งในผู้นำรุ่นใหม่ที่ร่วมโครงการ Young Egg Leader 2020/2021 ได้แบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์จากการแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารในวงการอุตสาหกรรมไข่ไก่ทั่วโลก ผ่าน Poultry World วารสารปศุสัตว์ระดับโลก ของประเทศเนเธอแลนด์ และได้ชู "ฟาร์มวังสมบูรณ์" ของซีพีเอฟ เป็นต้นแบบฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง (Cage Free) ที่ประยุกต์มาตรฐานของสหภาพยุโรปมาใช้ เป็นการผลิตอาหารที่รับผิดชอบ รองรับแนวโน้มความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมไข่ที่ยั่งยืน
"การที่ฟาร์มวังสมบูรณ์ได้รับการยอมรับในระดับสากล ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มาจากแหล่งผลิตยึดหลักสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งบริษัทฯ ให้ตระหนักเรื่องนี้มาโดยตลอด และเดินหน้าขยายการผลิตไข่ไก่จากฟาร์มแบบไม่ใช้กรงเป็น 15 ล้านฟองในปี 2564 นี้ เพื่อร่วมส่งมอบอาหารคุณภาพ ปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกฟอง" นายสมคิดกล่าว
ซีพีเอฟ ได้พัฒนาฟาร์มวังสมบูรณ์ เพื่อผลิตไข่ไก่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ใช้กรง (เคจฟรี) ตั้งแต่ปี 2561 โดยประยุกต์ใช้มาตรฐานของสหภาพยุโรป ซึ่งแม่ไก่ไข่ถูกเลี้ยงแบบธรรมชาติ ในโรงเรือนระบบปิดขนาดใหญ่ ความหนาแน่นไม่เกิน 9 ตัวบนพื้นที่ 1 ตารางเมตร มีการนำระบบคอมพิวเตอร์และระบบอัตโนมัติควบคุมการผลิต อุณหภูมิและการระบายอากาศอย่างเหมาะสมตลอดเวลา ควบคู่กับการควบคุมและป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ติดตั้งระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มตามแนวทาง Biosecurity Hi-tech Farming
ฟาร์มมีการจัดสภาพแวดล้อมสอดคล้องตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ส่งเสริมให้แม่ไก่ไข่ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างอิสระ เช่น มีคอนสำหรับเกาะพักผ่อนไม่ต่ำกว่า 15 เซนติเมตร/ตัว มีวัสดุปูรองพื้นเพื่อใช้สำหรับคุ้ยเขี่ยและไซ้ขนทำความสะอาดตัวเอง แม่ไก่มีอิสระ ส่งผลให้แม่ไก่ไข่อยู่อย่างสุขสบาย มีคุณภาพชีวิตที่ดี แข็งแรง และอารมณ์ดี ไม่ป่วยง่าย ส่งผลให้ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยง
ทั้งนี้ โครงการ Young Egg Leader 2020 จัดขึ้นโดย คณะกรรมการไข่สากล (International Egg Commission) เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำรุ่นใหม่ของอุตสาหกรรมไข่ไก่ทั่วโลก โดยการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ประกอบการและภาครัฐชั้นนำทั่วโลกสู่การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตไข่อย่างยั่งยืน./
No comments:
Post a Comment