จุรินทร์ จับมือ "หัวเว่ย เทคโนโลยี" ลุยอบรมการค้ายุคดิจิทัล ให้ SMEs และเด็กไทย GenZ เป็น CEO - The Tellus Post

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Sunday, November 1, 2020

จุรินทร์ จับมือ "หัวเว่ย เทคโนโลยี" ลุยอบรมการค้ายุคดิจิทัล ให้ SMEs และเด็กไทย GenZ เป็น CEO


กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) และ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการ (MOU) ในการร่วมมือพัฒนาหลักสูตรด้านดิจิทัล ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคธุรกิจ โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีฯ ในวันพุธที่ 28 ตุลาคม 2563 ณ อาคาร จี ทาวเวอร์ ชั้น 39 กรุงเทพมหานคร


นายจุรินทร์
 กล่าวถึงการที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดกับโลกในอนาคต โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลนำการค้า หรือ Digital Technology led commerce ผู้ประกอบการที่สามารถใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้รวดเร็ว อาจเป็นกุญแจสำคัญในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนา โดยอาศัยเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ เช่น การสื่อสารแบบ 5G, เทคโนโลยี Cloud, Big Data, Robotics, Machine Learning, Artificial Intelligence และอื่น ๆ เข้ามาช่วยในการทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ

นายจุรินทร์ กล่าวขอบคุณบริษัทหัวเว่ย ที่ได้ให้เกียรติกับกระทรวงพาณิชย์ในการลงนามทำ MOU ร่วมกันในการจัดให้มีหลักสูตรในการให้ความรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยีขึ้นกับ SMEs และผู้ที่สนใจในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถที่จะมีตัวเลขทางการค้าเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบอีคอมเมิร์ซ ความสำคัญของการลงนาม MOU สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปและประเทศไทยก็มีความจำเป็นที่จะต้องก้าวให้ทันโลกและต้องพร้อมที่จะก้าวไปกับโลกที่เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพราะโลกยุคปัจจุบันกับสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้มีความจำเป็นที่จะต้องทำนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและทวีความสำคัญยิ่งขึ้นใครตามเทคโนโลยีไม่ทันก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังและใครสามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความก้าวหน้าและใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะเป็นผู้ได้เปรียบในเวที ไม่เฉพาะเศรษฐกิจแม้แต่วิธีการเมืองและวิธีสังคมโลกก็ตามไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด 
เผย “หัวเว่ยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ผนึกกำลังร่วมกับสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบธุรกิจและกลุ่มสตาร์ทอัพ ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในครั้งนี้สอดคล้องกับพันธกิจระยะยาวของเราในการช่วยประเทศไทยขับเคลื่อนไปสู่การเป็น “ประเทศไทย 4.0” ผ่านการทรานสฟอร์มด้านดิจิทัล ด้วยความเชี่ยวชาญของเราในการพัฒนาหลักสูตรด้านเทคโนโลยีชั้นนำของอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมเทคโนโลยีด้านไอซีทีแบบครบวงจร เราเชื่อมั่นว่า ความรู้และทักษะที่เรานำมาแบ่งปันให้กับทุกคน จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้แก่ธุรกิจ SME สตาร์ทอัพ และบุคคลทั่วไปที่เข้าร่วมอบรมกับเรา ผู้ที่จบหลักสูตรนี้จะได้เรียนรู้ทักษะดิจิทัลที่สำคัญและช่วยให้พวกเขาสามารถคว้าโอกาสใหม่ ๆ ในยุคดิจิทัลได้”

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเข้ามาเป็นกุญแจสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในการทำการค้าทั้งในและต่างประเทศ จึงได้เสาะหาพันธมิตรที่มีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งภายใต้บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย จำกัด มีสถานฝึกวิชาชีพ หัวเว่ย อาเซียน อะคาเดมี่ (Huawei ASEAN Academy) ที่มีหลักสูตรฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่า 3,000 หลักสูตร โดยจะนําหลักสูตรที่มุ่งเน้นความรู้ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) มาใช้ร่วมกับการฝึกอบรมของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA นำร่องด้วยหลักสูตร “SMEs ตามทันเทคโนโลยีดิจิทัล” (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) บุคลากรรุ่นใหม่ (Gen-Z) ธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ (Start Up) รวมถึงผู้สนใจทั่วไปและผู้บริหารของทั้งภาครัฐและเอกชน

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า กระทรวงพาณิชย์มีความเห็นว่าอย่างน้อยเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างสูงในการพัฒนาธุรกิจภาคเอกชนของประเทศควรจะประกอบด้วยอย่างน้อยเทคโนโลยี 5G ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่เริ่มต้นได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น IoT (Internet of Things) ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง มีบทบาทมาระยะหนึ่งแล้ว จะต้องมีการพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง ขอให้พวกเราตามทัน เพราะหัวเว่ยไปเร็วมาก รวมทั้งระบบคลาวด์ก็จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเก็บข้อมูลและบริหารจัดการข้อมูล เพื่อนำมาใช้ได้อย่างรวดเร็วแม่นยำทุกที่ทุกเวลา อย่างน้อย 3 ตัวนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสำหรับภาคธุรกิจในประเทศไทย SMEs มีความสำคัญอย่างยิ่ง ปัจจุบันนี้ SMEs ถือว่าเป็นธุรกิจฐานรากที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต และจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นไปเช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก

ประเทศไทยมี SMEs กว่า 2-3 ล้านราย นโยบายของกระทรวงพาณิชย์ไม่ใช่แค่มุ่งพัฒนา SMEs ให้สามารถนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เพื่อประกอบธุรกิจให้ทันโลกเท่านั้น แต่เรายังมีความเห็นเพิ่มเติมว่าเด็กรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือกำลังจะเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัยที่จะก้าวเข้าสู่วงการธุรกิจต่อไปในอนาคต จะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสำคัญที่จะต้องได้รับการพัฒนาหรือเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อเตรียมตัวเป็น CEO ต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นนอกจากนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนา SMEs ให้สามารถใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลได้อย่างคล่องตัว เด็กรุ่นใหม่ก็จะต้องได้รับการเตรียมการเช่นเดียวกัน ตามโครงการที่กระทรวงพาณิชย์ได้ริเริ่มขึ้นโดย NEA หรือสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เช่น การปั้น Gen Z ให้เป็น CEO หรือโครงการ CEO Gen Z ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจนว่าภายในหนึ่งปีจะปั้นให้เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 12,000 ราย ได้ริเริ่มไปแล้วระยะหนึ่งโดยได้รวบรวมนักศึกษาที่ให้ความสนใจในมหาวิทยาลัยภาคเหนือ 7 แห่งมารวมกันแล้วจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซทำการค้าออนไลน์ให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลถัดจากนี้ไปก็จะไปทำในภาคใต้มหาวิทยาลัยทุกแห่งที่สนใจ และไปทำกับภาคอีสาน ภาคกลาง ในกรุงเทพมหานครและจะเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัย ทำ MOU กับกระทรวงพาณิชย์ในการจัดให้มีการโอนหน่วยกิต ถ้ามาอบรม CEO Gen Z หลักสูตรนี้ของกระทรวงพาณิชย์จะได้รับหน่วยกิตสำหรับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยไปด้วย ถือว่าเป็นความก้าวหน้าและเชื่อว่าภายในหนึ่งปี 12,000 คนจะเป็นทัพคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศในการเพิ่มมูลค่าการค้า

ส่วนการฝึกอบรม SMEs ที่เราทำในวันนี้ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะอบรม SMEs ให้ได้ถึง 1,000 ราย โดยการอบรม 3 วันที่ผ่านมาทำได้ 250 ราย ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนา SMEs ซึ่งจะเป็นฐานกำลังในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไปในยุค New Normal ที่สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยเราจับมือกันพลิกโควิดให้เป็นโอกาสได้ทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า

นอกจากนี้ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) และ Huawei ASEAN Academy ได้เตรียมจัดการอบรมให้ความรู้ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) ขึ้นอีกในอนาคต สำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะจัดขึ้นได้ทาง https://www.facebook.com/familyditphttps://www.facebook.com/nea.ditp/, https://www.facebook.com/HuaweiTechTH/ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 092-259-0953 หรือ https://nea.ditp.go.th

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad



Pages