วันนี้ (10 ตุลาคม 2565) กรมสุขภาพจิตจัดกิจกรรมวันสุขภาพจิตโลก 2022 พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมวัดใจ เติมพลัง เพื่อสร้างสังคมมีสุข
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 เป็นต้นมา สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (The World Federation for Mental Health : WFMH) ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) เพื่อให้ประชากรทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของสุขภาพจิต และการลงทุนเพื่อการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจ ประเทศไทยมีนโยบายทางสาธารณสุขที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเท่าเทียม โดยหมายถึงการดูแลสุขภาพของประชาชนที่ไม่ใช่แค่สุขภาพกายเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการดูแลทางจิตใจด้วย โดยมี “ความหวัง” เป็นองค์ประกอบสำคัญของ “การสร้างความเข้มแข็งทางใจ ให้ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ได้” ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่สังคมที่สงบสุข การสร้างความเข้มแข็งทางใจ เป็นหลักการสำคัญของนโยบายการดูแลจิตใจประชาชนของกรมสุขภาพจิตในช่วงสถานการณ์วิกฤตที่ผ่านมาอีกด้วย
เราทุกคนคงทราบดีว่า ไม่มีช่วงเวลาใดในประวัติศาสตร์ที่ปัญหา สุขภาพจิตได้มามีผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกมากเท่ากับยุคสมัยของเราเป็นที่น่ายินดีว่า ในพระราชบัญญัติสุขภาพจิตที่มีการปรับปรุงในปี 2562 นั้น มีบทบัญญัติที่สำคัญ คือ การคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต ผู้ดูแล และสังคม รวมไปถึงภารกิจของการส่งเสริมป้องกัน รักษา การบริการ และฟื้นฟูด้านสุขภาพจิต ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และได้มีการมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรมสุขภาพจิต ร่วมกันแก้ไขจุดอ่อนของระบบ ให้การดูแลด้านสุขภาพจิตเป็นไปอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยขอให้ดำเนินการเป็นกรณีเร่งด่วนด้วย นอกจากนี้ เรายังมีการลงทุนเพื่อสุขภาพจิตที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ประเทศไทยเป็นแกนหลักในการนำเสนอประเด็นนี้ต่อองค์การอนามัยโลก และนำไปสู่การตัดสินใจของคณะกรรมการบริหาร ในหัวข้อ “การส่งเสริมการเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพจิต และการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุข” ในเรื่องของการประเมินตนเอง และให้คำปรึกษาออนไลน์ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาทางจิต ทั้งในหมู่ประชาชน และผู้ปฏิบัติงานอีกด้วย



แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การสื่อสาร ค่านิยมและโรคระบาดที่สำคัญ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงด้านการเรียน การทำงาน สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด หากความเครียดที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับที่มากจนเกินไป ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของบุคคล เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2565 World Mental Health Day 2022 ในวันนี้ กรมสุขภาพจิตต้องขอขอบคุณการดำเนินงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา การร่วมมือกันจากทุกฝ่ายทำให้ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก ในเรื่องของการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ที่สนับสนุนการให้บริการทางจิตเวชและสุขภาพจิตทั้งในสถานบริการและชุมชน จนเข้าถึงผู้รับบริการได้ในวงกว้าง และยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ร่วมในการส่งเสริม ผลักดัน และสนับสนุนผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตได้มีโอกาสและกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างเท่าเทียมกับผู้อื่น และสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขอีกด้วย

ในโอกาสนี้ กรมสุขภาพจิตจึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกคน ร่วมรู้เท่าทันสุขภาพจิตของตนเอง ผ่านระบบ Mental Health Check In หรือ www.วัดใจ.com และเมื่อพบปัญหาที่เกิดขึ้นขอให้ทุกคนร่วมเติมพลังผ่านองค์ความรู้ และวิธีการรวมไปถึงการขอรับคำปรึกษาจากบริการสถานพยาบาลหรือเครือข่ายดูแลใจในพื้นที่ใกล้เคียง เพราะปัญหาสุขภาพจิตสามารถแก้ไขได้หากคนไทยร่วมวัดใจ เติมพลัง สังคมก็จะเกิดความสุขอย่างยั่งยืน
No comments:
Post a Comment