เปิดคะแนนความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการของผู้บริโภค ปี 63ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย คะแนนต่ำกว่าครึ่งในทุกมิติ - The Tellus Post

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Friday, November 20, 2020

เปิดคะแนนความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการของผู้บริโภค ปี 63ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย คะแนนต่ำกว่าครึ่งในทุกมิติ



18 พฤศจิกายน 2563 กรุงเทพฯ : แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก” เปิดผลการประเมินนโยบายสาธารณะด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการของผู้บริโภค ของ 8 ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในประเทศไทย ประจำปี 2563 พบซูเปอร์มาร์เก็ตไทยทำคะแนนต่ำกว่าครึ่งในทุกมิติ ขาดกลไกการรับเรื่องร้องเรียนและเยียวยาผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรการชัดเจนเฉพาะในหมวดที่สร้างภาพลักษณ์ได้ เช่น การงดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก แต่ขาดมาตรการควบคุมให้คู่ค้ามีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้า 


นางสาวจิดาภา มีเพียร เจ้าหน้าที่ฝ่ายการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) เปิดเผยว่า “แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก” หรือเดิมใช้ชื่อว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” ได้จัดทำการสำรวจและประเมินนโยบายทางสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทยมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติในด้านที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการสร้างความยั่งยืนทางอาหาร ตลอดจนมีการบังคับใช้นโยบายอย่างจริงจัง

สำหรับในปี 2563 แคมเปญผู้บริโภคที่รักได้ประเมินซูเปอร์มาร์เก็ตไทยจำนวน 8 แห่ง ในมิติความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการของผู้บริโภค ซึ่งเป้าหมายของการประเมินในปีนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยแล้ว ในขณะเดียวกันเป็นการช่วยส่งเสริมความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การประเมินในครั้งนี้ จำแนกออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านความรับผิดชอบต่อสวัสดิการของผู้บริโภค ด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับคู่ค้า และสิ่งแวดล้อมของห้างค้าปลีก โดยแต่ละมิติจะมี 8 ตัวชี้วัดย่อย การประเมินได้ดำเนินการโดยพิจารณาจากนโยบายของซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะที่ตรวจสอบและเข้าถึงได้ เช่น เว็บไซต์ รายงานประจำปี หรือรายงานต่างๆ โดยการประเมินเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 จากการประเมิน พบว่า ที่ผ่านมามีซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งที่มีการประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติในด้านดังกล่าวสู่สาธารณะ แต่ในภาพรวมถือว่ายังคงต้องมีการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น โดยมิติที่จะต้องเร่งปรับปรุง ประกอบด้วย

• การพัฒนานโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกลไกการร้องเรียนและการเยียวยาผู้บริโภค ที่จะต้องครอบคลุมแนวทางการจัดการข้อร้องเรียน รูปแบบ กรอบระยะเวลาในการจัดการข้อร้องเรียนและการชดเชย 

• การเปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มาและกระบวนการในการคัดกรองสินค้า 

• การพัฒนากลไกการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับสินค้าโดยเฉพาะในสินค้าประเภทผักและผลไม้ รวมไปถึงอาหารทะเล

• มาตรการในการดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้ผลิตที่ไม่มีกระบวนการการผลิตอาหารที่ปลอดภัย 

• ส่งเสริมการใช้นโยบายและแนวปฏิบัติตามแนวทางการจัดหาสินค้าที่ยั่งยืน

นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร ผู้จัดการสำนักงาน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (FOUNDATION FOR CONSUMERS) 
กล่าวว่า จากผลการประเมินซูเปอร์มาร์เก็ตไทยในข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตทำคะแนนในทุกมิติน้อยกว่าร้อยละ 50 ของคะแนนรวม ส่งผลให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องร่วมกันผลักดันให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจัดทำมาตรฐาน และแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้ภายในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่จะมาถึงผู้บริโภค

“สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คือ การพัฒนาระบบและเครื่องมือที่ให้ผู้บริโภคสามารถที่จะตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้า รวมไปถึงส่วนประกอบของสินค้า ผลักดันให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจัดทำ ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าและส่วนประกอบของสินค้า พร้อมให้ข้อมูลด้านโภชนาการและข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่ออันตราย และไม่จำหน่ายสินค้าที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงการพัฒนากลไกการรับเรื่องร้องเรียน และเยียวยาให้แก่ผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยซูเปอร์มาร์เก็ตจำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาข้อร้องเรียน และมีการเยียวยาตามสิทธิพึงมีของผู้บริโภค” 

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)
 กล่าวว่า ภายใต้ห่วงโซ่ของธุรกิจอาหารที่มีซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นตัวแปรสำคัญนั้น ซูเปอร์มาร์เก็ตควรพัฒนาหลักจริยธรรมและมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้แน่ใจสินค้าที่มาจากผู้ผลิตเป็นสินค้าที่มีกระบวนการผลิตอย่างมีจริยธรรม และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค จากการประเมินมิติความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับคู่ค้า จะพบว่า 6 ตัวชี้วัดที่ไม่มีซูเปอร์มาร์เก็ตใดได้คะแนนเลย คือ การใช้ยาและสารเคมี ความยั่งยืนของระบบนิเวศต้นน้ำ การตรวจสอบและย้อนกลับ การบริหารจัดการพลังงาน การบริหารจัดการน้ำและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก น้ำทิ้ง และของเสีย สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้มีการแสดงออกอย่างชัดเจนถึงมาตรการที่เกี่ยวข้องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง จึงจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการมีการใช้มาตรการเพื่อควบคุมให้คู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และเกิดความยั่งยืนทางอาหาร เนื่องจากในท้ายที่สุดแล้ว ผู้บริโภคคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของผู้ประกอบการไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม

จากการประเมินในข้างต้นจะเห็นได้ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยมีการพัฒนานโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและความรับผิดต่อสวัสดิการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ องค์กรภาคีเครือข่ายและองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีต่อไปคะแนนการประเมินในมิติทั้ง 2 ด้านจะเพิ่มสูงขึ้น

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages