ซีพีเอฟได้รับมาตรฐานองค์กรจัดการนวัตกรรม ISO56002 เป็นรายแรกของประเทศไทย - The Tellus Post

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Monday, November 2, 2020

ซีพีเอฟได้รับมาตรฐานองค์กรจัดการนวัตกรรม ISO56002 เป็นรายแรกของประเทศไทย

 

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดย โรงงานผลิตอาหารสัตว์บก บางนา ได้รับรองมาตรฐาน ISO 56002 เป็นองค์กรแรกของประเทศไทย ที่ได้รับรองมาตรฐานการบริหารจัดการนวัตกรรมในระดับสากล โดยได้รับเกียรติ จากนางพรรณี อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ นำใบรับรองมาตรฐาน ISO 56002 มอบแก่นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์บก ซีพีเอฟ ณ อาคารซีพี ทาวเวอร์ สีลม


นางพรรณี อังศุสิงห์
 กล่าวว่า มาตรฐานไอเอสโอ 56002 (ISO 56002) เป็นมาตรฐานใหม่ ที่สถาบันฯ ส่งเสริมให้กับองค์กรได้มีแนวทาง กระบวนการจัดการนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้องค์กรได้รับประโยชน์มากที่สุดจากโครงการพัฒนานวัตกรรม โดยซีพีเอฟ เป็นองค์กรที่มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพัฒนาการบริหารนวัตกรรมขององค์กรตามแนวทางมาตรฐานไอเอสโอ 56002  อย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนเป็นองค์กรรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับเกียรติบัตร ไอเอสโอ 56002 จากสถาบันฯ ช่วยตอกย้ำว่าซีพีเอฟเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของโลก ที่มีการดำเนินธุรกิจที่มีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง สามารถตอบสนองกับสภาพการณ์เปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและของโลกได้อย่างรวดเร็ว เติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ และมีส่วนร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรม สู่ Thailand 4.0


นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา
 ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์บก ซีพีเอฟ กล่าวว่า การได้รับรองมาตรฐาน ISO 56002 นับเป็นความสำเร็จของคณะผู้บริหารและเพื่อนพนักงานของซีพีเอฟทุกท่านและทุกหน่วยธุรกิจ ที่ร่วมมือกันสร้างสรรค์นวัตกรรมในกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมมาตลอดระยะเวลา 12 ปี และ โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกบางนา ซีพีเอฟ มีความก้าวหน้าอย่างชัดเจนและประสบความสำเร็จเป็นหน่วยงานแรกของไทยที่ได้รับรองมาตรฐานไอเอสโอ และยังเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่นๆ ของซีพีเอฟในการพัฒนาระบบบริหารจัดการนวัตกรรมตามมาตรฐานสากล 

“เป็นแนวทางที่ช่วยให้องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งนวัตกรรม บุคลากรทุกลำดับชั้นสามารถคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือ กระบวนการทำงานใหม่ที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ สร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยังช่วยพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันอย่างยั่งยืนอีกด้วย ช่วยให้องค์กรบรรลุวิสัยทัศน์การ “ครัวของโลก” นายสิริพงศ์กล่าว 

ที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมภายในองค์กรที่เป็นระบบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 โดยมีการจัดอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจ และพร้อมประยุกต์นวัตกรรมเข้ากับกระบวนการทำงาน นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมทั้งการดำเนินโครงการ CPF CEO Award เพื่อมอบรางวัลแก่ผู้ที่มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับองค์กร และเป็นกิจกรรมแบ่งปันองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นให้พนักงานสร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งใหม่รวมไม่น้อยกว่า 45,000 ผลงาน และมีนวัตกรรมที่นำไปจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรแล้วรวมถึง 294 ผลงาน 

บริษัทฯ ยังได้ต่อยอดพัฒนาพนักงานเป็นนวัตกรตามแนวทาง TRIZ ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทฯ สามารถมี นวัตกรในองค์กรรวมถึง 1,020 คนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนให้องค์กรมีการพัฒนานวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มสร้างโอกาสและการเติบโตให้กับธุรกิจ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พัฒนาชุดทดสอบแบคทีเรียกลุ่ม Listeria monocytogenes ที่ก่อโรคในอาหาร ช่วยเพิ่มความแม่นยำและลดระยะเวลาการตรวจเหลือเพียง 1 วัน นอกจากนี้ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของคนไทย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่เหมาะสมกับคนในแต่ละช่วงวัย เป็นต้น 

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้ก่อตั้ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารซีพีเอฟ (CPF Food Research and Development Center) ณ อำเภอวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร ผ่ายการคิดค้น วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ โดยมีโรงงานต้นแบบเป็นพื้นที่ในการทดลองผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมทั้งมี ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน รวมถึงนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพิ่มโอกาสในการตอบสนองตลาดได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว บนพื้นฐานของความยั่งยืน 

มาตรฐาน ISO 56002 Innovation Management เป็นมาตรฐานใหม่ที่สถาบันรับรองไอเอส เริ่มประกาศใช้และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2562 ที่ผ่านมา ใช้รับรององค์กรที่มีระบบการบริหารจัดการที่นำเอานวัตกรรมเข้าไปสู่การดำเนินองค์กรในทุกลำดับชั้น สร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากร และนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมได้ เป็นกลไกที่สำคัญในการผลักดันให้ภาคธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์การขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถปรับตัวตามทันตลาดและแนวโน้มของสังคม และบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม./

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages