โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ เตือนโรงหลอดเลือดสมองคร่าชีวิตคนไทยปี 63 กว่า 41,000 คน พร้อมชูศักยภาพการรักษา Medical Technology
นพ. ยงยุทธ มัยลาภ ผู้อำนวยการ รพ.พญาไท นวมินทร์ เปิดเผยว่า “โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ มุ่งเน้นกลยุทธ์เครือข่ายโรงพยาบาลพญาไท ซึ่งนับว่าเป็นจุดแข็งของโรงพยาบาลฯ และด้วยเพราะทุกเสี้ยววินาทีคือความอยู่รอดหรือการสูญเสีย จึงได้นำรถพยาบาลนวัตกรรม ‘Mobile Stroke Unit’ ซึ่งเป็นคันแรกของเอเชีย โดยออกให้บริการผู้ป่วยในย่านนวมินทร์ รถนี้จะใช้รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลกและเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของประเทศไทย”
ทั้งนี้การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบมีปัจจัยสำคัญที่สุดในการรักษาเมื่อเกิดการอุดตันของหลอดเลือดเนื้อสมองในบริเวณที่เป็นศูนย์กลางการขาดเลือดจะเกิดการตายอย่างเฉียบพลันซึ่งบริเวณดังกล่าวจะขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปส่วนเนื้อสมองบริเวณโดยรอบที่ขาดเลือดไปเลี้ยงจะหยุดทำงานและตายไปในที่สุดถ้าไม่ได้รับการเปิดหลอดเลือดอย่างทันท่วงที ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาลฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญ จึงได้นำรถ ‘Mobile Stroke Unit’ มา ช่วยเหลือผู้ป่วยให้รอดชีวิตและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
พญ. ลลิตพรรณ สุดประเสริฐ อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทและสมอง กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคในกลุ่มประสาทวิทยาที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่ง เกิดจากความเสื่อมสภาพสะสมของเซลล์ในร่างกายที่กำหนดโดยยีน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงวัย 20 ปี และจะแสดงอาการชัดเจนในช่วงวัย 50 ปี โดยการดำเนินของโรคนั้นขึ้นกับปัจจัยภายนอกที่จะเข้าไปเร่งให้การเสื่อมสภาพเร็วขึ้น อาทิ ลักษณะนิสัยการกิน สภาพแวดล้อม ความดันโลหิต การดื่มสุรา หรือการสูบบุหรี่
“จากข้อมูลกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2563 ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 800,749 รายและเสียชีวิตด้วยโรคนี้ จำนวนถึง 41,840 ราย ซึ่งสาเหตุใหญ่ของความพิการและเสียชีวิตของผู้ป่วยก็เนื่องจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับมือกับอาการที่เกิดอย่างปัจจุบันทันด่วน ทั้งนี้รวมไปถึงการตัดสินใจกำหนดวิธีรักษาของแพทย์ด้วย เพราะภาวะของโรคหลอดเลือดสมองนี้ แม้ว่าผู้ป่วยจะมาถึงทันเวลาและอยู่ในมือแพทย์ที่ดีที่สุด แต่ความเสี่ยงจากการเสียชีวิตก็ยังมีอยู่ถึง 6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขึ้นอยู่ที่การวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ”
นพ.ประณต นิพัทธสัจก์ แพทย์เฉพาะทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติม “โดยทั่วไปเมื่อผู้ป่วยมาด้วยภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลัน ถ้าอาการเกิดยังไม่ถึง 4.5 ชั่วโมง แพทย์อาจจะพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อสลายก้อนเลือดที่อุดตัน แต่ด้วยความเสี่ยงต่อผลร้ายที่อาจตามมาจากการใช้ยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยบางกลุ่ม ทำให้บางกรณีแพทย์ก็จำเป็นต้องตัดสินใจงดยานี้ทั้งที่ยังอยู่ในช่วงเวลาที่สามารถให้ได้”
ข้อห้ามที่จะให้ยาละลายลิ่มเลือดประการหนึ่งคือเรื่องขนาดของ Stroke เพราะยิ่งเราเห็นว่า Stroke ใหญ่เท่าไหร่ ก็ยิ่งอันตรายสำหรับการให้ยาละลายลิ่มเลือดมากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ‘หลอดเลือดสมอง’ เป็นโรคเกี่ยวกับความเสื่อมที่มีปัจจัยภายนอกเป็นตัวเร่ง โดยผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถควบคุมได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่นลดการดื่มสุรา สูบบุหรี่ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่มของความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในหลอดเลือด ซึ่งต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษและควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ตามวาระ เพราะทั้งหมดนี้มีผลโดยตรงกับการชะลอความเสื่อมของร่างกาย และช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลันได้ดีที่สุด
No comments:
Post a Comment