“สินิตย์ เลิศไกร” รมช.พาณิชย์ ชูงานคราฟต์ไทย ส่งเสริมรายได้ สร้างอาชีพ และต่อยอดมูลค่าเชิงพาณิชย์ - The Tellus Post

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Saturday, October 16, 2021

“สินิตย์ เลิศไกร” รมช.พาณิชย์ ชูงานคราฟต์ไทย ส่งเสริมรายได้ สร้างอาชีพ และต่อยอดมูลค่าเชิงพาณิชย์


นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในโอกาสเดินทางตรวจเยี่ยม ร้าน Mantra Craft สมาชิกสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ที่จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 ว่า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกำกับดูแลสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการสืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน โดยเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ และที่ผ่านมาได้มอบนโยบายให้ สศท. เร่งพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ให้สามารถเป็นที่ยอมรับ และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ได้อย่างครอบคลุมทุกด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านการตลาด ด้านการสืบสานอนุรักษ์ และด้านการบริหารจัดการวัฒนธรรม


งานศิลปหัตถกรรมไทย หรือ งานคราฟต์ นั้น เป็นงานฝีมือที่ทรงคุณค่า ที่ต้องผ่านกระบวนการทางความคิดผสมผสานภูมิปัญญา และวัตถุดิบจากธรรมชาติในท้องถิ่น พร้อมกับประสบการณ์ที่สั่งสมมาในอดีต สร้างสรรค์จนเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่มีความสวยงาม ประณีต และสามารถสร้างมูลค่าและรายได้ให้กับช่างและชุมชน เกิดการหมุนเวียนด้านเศรษฐกิจภายในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ การสืบสาน ส่งเสริมคุณค่า ยกย่องเชิดชู รักษา พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญา งานศิลปหัตถกรรมไทย พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของงานศิลปหัตถกรรมไทย รวมถึงพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการศิลปหัตถกรรมไทยให้มีความรู้ความสามารถ ความชำนาญ มีทักษะฝีมือ ในงานศิลปหัตถกรรมไทยพื้นบ้าน ให้เกิดการอนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สั่งสมสืบทอดจากบรรพบุรุษ สะท้อนถึงศาสตร์และศิลป์เชิงช่างในสาขาต่างๆ ให้ดำรงคงอยู่โดยไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา เพราะงานศิลปหัตถกรรมไทยนั้นเป็นงานที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทย วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่นและชุมชนได้เป็นอย่างดี จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการส่งเสริม รักษา และพัฒนาต่อยอดให้งานศิลปหัตถกรรมไทยมีความร่วมสมัยตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาและวัตถุดิบจากท้องถิ่น ถ่ายทอดส่งต่อให้ถึง ผู้สร้างสรรค์และคนรุ่นใหม่ อันจะนำไปสู่การดำรงรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า และสร้างมูลค่าเพิ่ม ในเชิงพาณิชย์ต่อไป


ทางด้านนายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวเสริมว่า แบรนด์ Mantra Crafts สมาชิกของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยของ สศท. ที่เข้าร่วมเครือข่ายการพัฒนางานศิลปหัตถกรรม (Value Chain) ตามโครงการของ สศท. ในปี 2564 คือ การนำทักษะฝีมือและผลงานอันโดดเด่นของสมาชิก สศท. มาสร้างเครือข่ายที่มุ่งให้เกิดความร่วมมือในการนำวัสดุ และผลิตภัณฑ์มาแปรรูปเป็นสินค้าภายใต้มุมมองใหม่ 



อย่างไรก็ตาม ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และภูมิปัญญาไว้ ภายใต้ชื่อ ISAN Street Art และได้นำความรู้และประสบการณ์ มาต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เกิดเป็นธุรกิจขึ้นถึงปัจจุบัน Mantra Crafts มีความมุ่งมั่นยกระดับผ้าทอพื้นถิ่นของจังหวัดเลย ให้มีคุณค่าและแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่วางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด ผ่านแนวคิดและประสบการณ์เรื่องสีธรรมชาติ จากรัฐคุชราต ประเทศอินเดีย ที่มีชื่อเสียงเรื่องการสร้างสรรค์ผืนผ้าอันงดงามยาวนานหลายร้อยปี ผสมผสานกับเทคนิคมัดย้อมผ้าแบบชิโบริ (Shibori) ซึ่งเป็นเทคนิคมัดย้อมผ้าแบบกันสีที่มีประวัติยาวนานกว่า 3,000 ปี มาพัฒนาต่อยอดผ้าฝ้ายเข็นมือพื้นถิ่นของจังหวัดเลย โดยนำมามัดลายทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง แล้วย้อมด้วย สีธรรมชาติ ด้วย Texture ของผ้าฝ้ายเข็น และเทคนิคชิโบริ ที่บรรจงเก็บทุกรายละเอียดตั้งแต่การทอจาก ฝ้ายธรรมชาติ การย้อมด้วยสีธรรมชาติทั้งแบบร้อนและแบบเย็น รวมถึงการออกแบบลวดลายและลักษณะ การใช้งานที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าในยุคปัจจุบัน อาทิเช่น เครื่องแต่งกายบุรุษและสตรี กระเป๋า หมวก และ ของประดับตกแต่ง เป็นต้น ปัจจุบัน Mantra Craft ได้เข้าไปส่งเสริมให้มีการทอผ้าฝ้ายในกลุ่มคนในชุมชน จนสามารถสร้างรายได้กว่า 100,000 บาท ต่อเดือน หรือนับล้านบาทต่อปี




No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad



Pages