ลูกแข็งแรงเริ่มต้นที่แม่กระฉับกระเฉง - The Tellus Post

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, December 11, 2024

ลูกแข็งแรงเริ่มต้นที่แม่กระฉับกระเฉง


[11 ธันวาคม 2567] ม.มหิดล ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และ สสส. แนะมาตรการส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดมีกิจกรรมทางกายเพื่อประโยชน์กับลูกในระยะยาว

รศ. ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ชี้ความสำคัญของการขับเคลื่อนแนวปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเริ่มนำร่องงานวิจัยร่วมกับ สสจ. อุบลราชธานี และศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี และขยายผลการดำเนินงานกับศูนย์อนามัยที่ 1-12 สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง และสำนักส่งเสริมสุขภาพ


เนื่องด้วยสถานการณ์ทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับภาวะประชากรลดลง โดยประเทศไทยคือหนึ่งใน 23 ประเทศ จาก 198 ประเทศ ที่จำนวนประชากรจะมีแนวโน้มลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง ในปี 2100 ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มประสิทธิภาพคลินิกส่งเสริมการมีบุตรคุณภาพของภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศ พร้อมจัดทำแคมเปญ “Give Birth Great World” เป็นโครงการระดับประเทศ ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติของการเกิดเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ของโลก แก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย โดยมุ่งหวังว่าจะสร้างสังคมที่เอื้อต่อการมีบุตร และช่วยให้เด็กเกิดมามีสุขภาพดีพร้อมมีพัฒนาการที่ดีตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ทั้งนี้ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมขับเคลื่อนแคมเปญดังกล่าว พร้อมกับขับเคลื่อนแนวปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดที่เพียงพอ จะทำให้มีสุขภาพดีทั้งตนเองและทารกในครรภ์


ขณะนี้ ได้ผลักดันเป็นนโยบายระดับประเทศแล้ว โดยความร่วมมือกันของ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเริ่มนำร่องงานวิจัยร่วมกับ สสจ. อุบลราชธานี และศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี และขยายผลการดำเนินงานกับศูนย์อนามัยที่ 1-12 สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง และสำนักส่งเสริมสุขภาพ โดยระยะแรกนี้ ได้มีการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติ และการใช้ชุดเครื่องมือสำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดที่มารับบริการในคลิกนิกฝากครรภ์ และมีการทดลองปฏิบัติตามแนวทางมาตรการและชุดการให้บริการเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายในหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด ประกอบด้วย การประเมินการมีกิจกรรมทางกาย การประเมินความเสี่ยง การให้ความรู้ แนวทางการกำหนดเป้าหมายในการมีกิจกรรมทางกายระหว่างตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด และโปรแกรมการออกกำลังกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์ในแต่ละไตรมาส พร้อมถอดบทเรียนและร่วมกันอภิปรายถึงแนวทางที่จะนำชุดบริการเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายเข้าไปสอดแทรกในระบบการให้บริการของคลินิกฝากครรภ์อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดต่อไป


ในอนาคต ต้องการให้หญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดทุกท่านที่มาเข้ารับบริการทางสุขภาพได้รับบริการด้วยโปรแกรมและแนวปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมมือกันพัฒนามานี้ ได้เข้าถึงและใช้กันให้ทั่วประเทศทั้งในสถานพยาบาลของภาครัฐและเอกชน



กิจกรรมทางกายสำคัญอย่างมากสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด เพราะไม่เพียงแต่ทำให้มีหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์มีสุขภาพที่ดี แต่ยังช่วยลดอาการไม่สุขสบายในขณะตั้งครรภ์ และช่วยเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายเพื่อเข้าสู่ระยะคลอด ทำให้การคลอดง่ายขึ้น ในระยะหลังคลอดยังส่งเสริมให้น้ำหนักตัวลดลงสู่ระดับปกติได้อย่างรวดเร็ว และในด้านจิตใจยังพบว่า สามารถลดภาวะซึมเศร้าในสัปดาห์แรกหลังคลอดทำให้เกิดความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองและมีความพึงพอใจในภาพลักษณ์ของตนเองสูงขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อทารก โดยพบว่าความยาวของลำตัวและน้ำหนักทารกแรกเกิดจะมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีกิจกรรมทางกาย และมีพัฒนาที่ดีตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages