วันที่ 5 ตุลาคม 2565 - สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จัด ‘พิธีมอบรางวัลนวัตกรรม ประจำปี 2565’ เนื่องใน ‘วันนวัตกรรมแห่งชาติ’ เพื่อเชิดชูเกียรติแก่นวัตกรไทยผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมอันโดดเด่น และเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร สังคม และประเทศ พร้อมทั้งยังเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะ ‘พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย’ ซึ่งในปีนี้มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 821 ผลงาน และผลงานที่ได้รับรางวัลรวม 52 ผลงาน ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา มาร่วมแสดงความยินดีและปาฐกถาพิเศษ ‘ศาสตร์ของพระราชาและการพัฒนานวัตกรรม’
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “การจัดงาน ‘วันนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2565’ นี้ ถือเป็นโอกาสแห่งการประกาศความสำเร็จของวงการนวัตกรรมไทย พร้อมทั้งเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวง รัชกาลที่ 9) ในฐานะ ‘พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย’ ซึ่งเปรียบเสมือน ‘ต้นแบบนวัตกร’ ของปวงชนชาวไทย จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ‘แกล้งดิน’ ซึ่ง NIA ได้ดำเนินการจัดงาน ‘วันนวัตกรรมแห่งชาติ’ และ ‘พิธีมอบรางวัลนวัตกรรม’ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมไทย โดยอาศัยการสร้างและเพิ่มจำนวน ‘นวัตกร’ และ ‘องค์กรนวัตกรรม’ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น และถือเป็นภารกิจสำคัญของ NIA ในการพัฒนาบุคลากร ทรัพยากร และองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมที่สามารถขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวกระโดด ประเทศไทยเรามีบุคลากรและองค์กรที่มีศักยภาพอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเวทีนี้จะทำให้คนไทยและสังคมไทยได้รับรู้ถึงศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศไทย และเป็นแรงบันดาลใจให้กับบุคคลและองค์กรอื่นได้คิดสร้างสรรค์และขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย ‘นวัตกรรม’ ไปด้วยกัน”
ด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้กล่าวว่า “NIA ในฐานะ ‘ผู้อำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม (Focal Facilitator)’ มุ่งมั่นขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น ‘ประเทศแห่งนวัตกรรม’ ที่พร้อมเติบโต และสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายในการนำประเทศไทยก้าวสู่ท็อป 30 ของดัชนีนวัตกรรมโลก หรือ GII ภายในปี 2573 และการไปสู่เป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มจำนวนธุรกิจฐานนวัตกรรมเพื่อปรับโครงสร้างทางธุรกิจของประเทศไปสู่ประเทศที่แข่งขันด้วยเทคโนโลยี และองค์ความรู้ รวมถึงเร่งส่งเสริมและสนับสนุนพลังของความคิดสร้างสรรค์และทุนทางวัฒนธรรม หรือ Soft power ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทรัพยากรที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่หลากหลาย เพื่อผลักดันการสร้างอัตลักษณ์และแบรนดิ้งนวัตกรรมไทยไปสู่สากล”
“ตลอดระยะเวลา 18 ปีของการจัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ‘นวัตกรรมของคนไทยไปได้ไกลว่าที่คิด’ เห็นได้จากผลงานนวัตกรรมที่ส่งเข้าประกวดมีความโดดเด่นและน่าสนใจในหลากหลายมิติ และ NIA เชื่อมั่นว่า การจัดงาน ‘วันนวัตกรรมแห่งชาติ’ จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะสร้างความตระหนัก และเปิดมุมมองใหม่ให้คนไทยได้รับรู้และภาคภูมิใจในนวัตกรรมไทย พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการคิดค้น พัฒนา และต่อยอดนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเป็นเวทีในการสื่อสารและสร้างการรับรู้ถึงพลังในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าด้วยนวัตกรรมจากทุกภาคส่วน” ดร. พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติม
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า “การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรม ประจำปี 2565 นี้ มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้นจำนวน 821 ผลงาน โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทรางวัล ดังนี้ 1) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ด้านสื่อและการสื่อสาร และด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวด 504 ผลงาน และมีผลงานที่ได้รับรางวัลรวม 44 ผลงาน โดยผลงานที่ได้รับรางวัลนั้น มีความโดดเด่นในหลากหลายมิติและสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนในวงกว้าง และ 2) รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย โดย NIA ร่วมจัดกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมในระดับเยาวชนในการพัฒนาผลงานให้สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจนวัตกรรม ประกอบด้วย 2 ระดับการแข่งขัน ได้แก่ ระดับปริญญาตรี หรือ ปวส. และระดับมัธยมศึกษา หรือ ปวช. มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวด 317 ผลงาน โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”
“จะเห็นได้ว่าการประกวดรางวัลนวัตกรรมที่ NIA ร่วมจัดกับหน่วยงานชั้นนำ ทั้งภาคเอกชน ภาคสังคม รวมถึงภาคการศึกษานั้น เปิดกว้างครอบคลุมตั้งแต่ระดับนักเรียนนักศึกษา นักออกแบบ นักวิชาการ ผู้ประกอบการ ชุมชน ไปจนถึงระดับองค์กร ทุกคน ทุกหน่วยงานสามารถส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขัน ผลงานนวัตกรรมมีความหลากหลาย และสามารถเชื่อมโยงได้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศิลปะ ดนตรี รวมไปถึงภาคประชาชนและสังคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ในความพยายามผลักดันในการใช้นวัตกรรมในทุกระดับ” ดร. กริชผกา กล่าว
ผลการประกวดรางวัลนวัตกรรมประจำปี 2565
1) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านเศรษฐกิจ
- รางวัลชนะเลิศประเภทวิสาหกิจขนาดกลาง ได้แก่ ผลงาน: บริการคลังสินค้าออนไลน์เพื่อพ่อค้าแม่ค้า โดย บริษัท อี-เอ็มพาวเวอร์เมนท์ จำกัด
- รางวัลชนะเลิศประเภทวิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจรายย่อย ผลงาน: ทรายแมวมันสำปะหลัง โดย บริษัท เวลตี้ ม็อกกี้ อินโนเวชั่น จำกัด
2) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
- รางวัลชนะเลิศประเภทหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ ผลงาน: ถุงมือพาร์กินสัน โดย บริษัท ฮิวแมนมูฟเมนท์ จํากัด
- รางวัลชนะเลิศประเภทหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ ผลงาน: เทคโนโลยีการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อโรค โดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- รางวัลชนะเลิศประเภทองค์กรเพื่อสังคมและชุมชน ได้แก่ ผลงาน: นอนนอน โดย บริษัท เซอร์คิวลาร์ริตี จำกัด
3) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ
- รางวัลชนะเลิศประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลงาน: เต่าบินโรโบติกบาริสต้า โดย บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- รางวัลชนะเลิศประเภทการออกแบบบริการ ได้แก่ ผลงาน: ระบบโทรเวชกรรมวชิรพยาบาล โดยแอพพลิเคชั่นวชิระแอทโฮม โดย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
4) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสื่อและการสื่อสาร
- รางวัลชนะเลิศประเภทผลงานนวัตกรรมสื่อและการสื่อสาร ได้แก่ ผลงาน: โครงการพัฒนาอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยไซเบอร์ โดย สมาคมเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้เท่าทันดิจิทัลเทคโนโลยี
- รางวัลเชิดชูเกียรติประเภทผู้สื่อสารนวัตกรรม ระดับบุคคลธรรมดา ได้แก่ คุณฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์
- รางวัลเชิดชูเกียรติประเภทผู้สื่อสารนวัตกรรม ระดับนิติบุคคล ได้แก่ บริษัท คลาวด์แอนด์กราวนด์ จำกัด และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
5) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น
- รางวัลดีเด่นประเภทองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ ได้แก่ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
- รางวัลดีเด่นประเภทองค์กรภาคเอกชนขนาดกลาง ได้แก่ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด
6) รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา และ ปวช. ได้แก่ ผลงาน: O-RA ผู้ช่วยป้องกันและฟื้นฟูข้อเสื่อม โดย โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
No comments:
Post a Comment