72 สถาบันและองค์กร หนุน ม.เกริก ตั้งวิทยาเขตปัตตานี ชูโมเดล Haji Sulong International College ยกระดับการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ - The Tellus Post

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, August 21, 2024

72 สถาบันและองค์กร หนุน ม.เกริก ตั้งวิทยาเขตปัตตานี ชูโมเดล Haji Sulong International College ยกระดับการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้


วันที่ 17 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี มหาวิทยาลัยเกริก จัดสัมมนาพัฒนาการศึกษาในดินแดนมลายู มีบรรยายพิเศษในหัวข้อ "พัฒนาการศึกษาในพื้นที่หลากหลายทางวัฒนธรรม (ไทย-จีน-มลายู)" โดย แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และศาสตราจารย์ ดร.จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ และคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับจีนมาโดยตลอด ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า และความร่วมมือด้านการศึกษา ความร่วมมือระหว่างไทยและจีนจะช่วยส่งเสริมการศึกษาไทยสู่ยุคใหม่


แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้กล่าวในบรรยายพิเศษว่า การศึกษาหาความรู้นั้นเป็นสิ่งที่ รัฐบาลให้การสนับสนุนและส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางศาสนา วัฒนธรรม และวิถีชีวิต รวมถึงมีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ในระดับชั้นปฐมศึกษา และมัธยมศึกษา เป็นจำนวนมาก โดย ดิฉันคิดว่าการที่มหาวิทยาเกริก ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ที่มีชื่อเสียงได้เดินทาง มาลงนามความร่วมมือ MOU ทางวิชาการ กับสถาบันและองค์กรด้านต่างๆกว่า 72 หน่วยงาน โดยมีมูลนิธิอาจารย์ฮัจยีสุหลงอับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง วิทยาลัยนานาชาติฮัจยีสุหลง (Haji Sulong International College) มหาวิทยาลัยเกริก วิทยาลัยปัตตานี ขึ้นในอนาคต เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป


Mr. Wang Chanming ประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานในวันนี้ และหวังว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาในคาบสมุทรมลายู การเรียนรู้ร่วมกันในวันนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจในหลากหลายมิติ ทั้งด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม และผมมีความภาคภูมิใจที่วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางกรุงเทพฯ ได้เปิดโอกาสให้มุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามาศึกษาในหลายสาขาต่าง ๆ หวังว่างานสัมมนาครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาทำงานร่วมกันบนพื้นฐานของการเปิดกว้าง สร้างผลประโยชน์ร่วมกัน เคารพซึ่งกันและกัน เพื่อปรับปรุงมาตรฐานการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ยังประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาค และส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรต่อไประหว่างไทยกับจีน


ด้าน ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม กล่าวว่า เราจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกริก เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเยาวชน และเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ใน 3 สาขาวิชาหลัก คือ การเงินอิสลาม อุตสาหกรรมฮาลาล และการจัดการบริการฮัจย์อุมเราะห์ โดยยืดแนวทางของหลักการอิสลาม บูรณาการร่วมกับบริหารธุรกิจ ในการที่จะพัฒนาการศึกษาของมุสลิม เพื่อให้บัณฑิตจบไปมีงานทำ รวมถึงในขณะที่ศึกษาอยู่สามารถทำงานควบคู่ไปด้วยกันได้ สร้างความแข็งแกร่งให้สังคมมุสลิม ก้าวทันยุคสมัย ทั้งนี้ ขอชื่นชม แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่มุ่งขับเคลื่อนการศึกษาของมุสลิมในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผลักดันการจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติฮัจยีสุหลง (Haji Sulong International College) มหาวิทยาลัยเกริก วิทยาเขตปัตตานี เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ได้เข้าถึงการศึกษา อีกทั้ง มหาวิทยาลัยเกริกยังมีการสนับสนุนทุนการศึกษา ตั้งแต่ 20% 50% และ 100% ตามความสามารถ เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้เรียน โดยหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนที่ดีจากเครือข่ายในพื้นที่ร่วมผลักดันการพัฒนาการศึกษา สืบไป


ดร.สราวุธ และซัน ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารฝ่ายยุทธศาสตร์และการพัฒนา และรองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า เราได้เริ่มจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ จากการเปิดเพียงสาขาวิชาเล็กๆ ในปี 2564 คือ สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม โดยนำหลักคำสอนของท่านศาสดานบีมูฮัมมัด ซล. ด้านศาสนาและการบริหารจัดการ เศรษฐกิจการค้า และสังคม มาบูรณาการ โดยต้องการสร้างการรับรู้ว่าเรามีการเปิดสาขาดังกล่าวในมหาวิทยาลัยเกริก เราได้ลงมาที่นี่ ในปี 2564 และร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ 15 โรงเรียน ซึ่งเค้ามีความเชื่อมั่นในเราส่งบุตรหลานมาเรียนกับเรา ใน 3 เอกวิชา คือ การเงินอิสลาม อุตสาหกรรมฮาลาล และการจัดการบริการฮัจญ์อุมเราะห์ และในวันนี้เรารู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ทุกท่านมาร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) ในวันนี้ จากปี 2564 จำนวน 15 สถาบัน/หน่วยงาน วันนี้มีจำนวนถึง 72 สถาบันที่มาร่วมลงนามความร่วมมือกับเรา ซึ่งเรามีแนวโน้มสูงที่จะไม่ให้ท่านต้องเดินทางไปศึกษากับเราไกลถึงกรุงเทพ โดยจะมีการจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติฮัจยีสุหลง (Haji Sulong International College) มหาวิทยาลัยเกริก วิทยาเขตปัตตานี เกิดขึ้นที่ปัตตานีบ้านของเราในอนาคตอันใกล้นี้






No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages