มหัศจรรย์ไหลเรือไฟ 15 ค่ำ เดือน 11 ยิ่งใหญ่ตระการตากลาง”โขง”มหานที - The Tellus Post

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Friday, October 18, 2024

มหัศจรรย์ไหลเรือไฟ 15 ค่ำ เดือน 11 ยิ่งใหญ่ตระการตากลาง”โขง”มหานที


งานประเพณีไหลเรือไฟ นิยมปฏิบัติกันในเทศกาล ออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ในแต่ละปี จังหวัดนครพนมทุกอำเภอจะมีการทำเรือไฟนำมาประกวดทั้งประเภทสวยงามและประเภทความคิดสร้างสรรค์ มีการออกแบบลวดลายให้เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่สอดแทรกเรื่องราวของวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมและความเชื่อของคนในท้องถิ่นเอาไว้

ในคืน วันออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 ของวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา การประกวดเรือไฟรอบใหญ่ ของนครพนม ผลการประกวด งานประเพณีไหลเรือไฟ ประจำปี 2567 คือ ประเภทสวยงาม 1 อ.โพนสวรรค์ 2 อ.ท่าอุเทน 3 อ.เมือง ชมเชย อ.ธาตุพนม ประเภทความคิด 1 อ.ศรีสงคราม 2 อ.บ้านแพง 3 อ.นาหว้า ชมเชย อ.นาแก


นายพนม พุทธาผา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโพนบก อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม ในฐานะศิลปินเรือไฟ เปิดเผยว่า เขาและสมาชิกคนเรือไฟ ได้รับเกียรติจากทางอำเภอให้เป็นผู้ออกแบบเรือไฟของชาวอำเภอโพนสวรรค์ ต่อเนื่องเป็นประจำในทุก ๆ ปี ได้ระดมกำลังทั้งความคิดและกำลังพลจากทีมงานสร้างเรือไฟ เพื่อนำเสนอเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของชาวอำเภอโพนสวรรค์ ออกสู่สายตานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติในงานไหลเรือไฟปีนี้

การออกแบบลวดลาย ถือเป็นเสน่ห์ของการทำเรือไฟ เพราะเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ลวดลายออกมาสวยงาม รวมถึงการกำหนดจุดแขวนตะเกียงไฟ ถือว่าสำคัญที่สุด โดยเฉพาะลวดลายตราสัญลักษณ์ รวมถึงภาพบุคคล จะต้องละเอียดมากที่สุด ซึ่งเกิดจากความชำนาญเฉพาะบุคคล เป็นทักษะของศิลปินในทีมที่ได้ทำงานกันมาต่อเนื่องหลายปี


“หลักคิดของผมในการออกแบบและนำเสนองาน จะทำการสอดแทรกความสำคัญทางพระพุทธศาสนารวมถึงประเพณีสำคัญ ๆ รวมถึงการแสดงออกซึ่งการเทิดทูนต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เสมอมา” ศิลปินเรือไฟ แห่งนครพนม กล่าว

ประเพณีไหลเรือไฟเป็นประเพณีที่ชาวนครพนมภาคภูมิใจ ถือเป็นประเพณีที่บรรพบุรุษได้ยึดถือปฏิบัติกันมานานตั้งแต่โบราณ โดยมีความเชื่อแต่โบราณว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท การบวงสรวงพระธาตุจุฬามณี การเอาไฟไปเผาความทุกข์และบูชาพระพุทธเจ้า เป็นประเพณีโบราณของชาวอีสาน โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยในแถบลุ่มแม่น้ำโขง





อีกทั้งการไฟลเรือไฟยังเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อแม่น้ำโขงที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวอีสาน การขอขมาและบูชาพระแม่คงคา ตลอดจนการบูชาพญานาค การขอฝน และการสะเดาะเคราะห์ เผาความทุกข์ให้ลอยไปตามสายน้ำให้หมดทุกข์หมดโศกด้วย

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages