แต่ปลาเนื้อสีแดงส้มที่เราเห็นตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารนั้น คือแซลมอน หรือว่า ฟยอร์ดเทราต์?
เนื้อปลาสองชนิดนี้มีความคล้ายกันมาก เนื้อแซลมอนจะออกสีส้มอ่อน แต่ฟยอร์ดเทราต์จะมีสีแดงสดเข้มกว่า ฟยอร์ดเทราต์ เป็นอีกหนึ่งของดีแห่งนอร์เวย์ ไทยนำเข้าฟยอร์ดเทราต์จากนอร์เวย์ในปริมาณกว่า 5,000 ตันในปี 2564 และมีวางขายโดยทั่วไป แต่ทำไมเราถึงไม่ค่อยคุ้นหูชื่อปลาชนิดนี้?
เพราะฟยอร์ดเทราต์ถูกนำมาขายในชื่อของ ‘แซลมอน’ หรือ ‘แซลมอนเทราต์’
โลกนี้ไม่มีปลาที่เรียกว่า ‘แซลมอนเทราต์’ ปลาสองชนิดนี้สายพันธุ์ต่างกันแม้หน้าตาจะคล้ายกัน แต่การที่ผู้บริโภครู้จักแซลมอนมากกว่า ทำให้เราอาจเห็นฟยอร์ดเทราต์ถูกวางขายในชื่อแซลมอน หรือชื่อไฮบริดสุดล้ำ ‘แซลมอนเทราต์’ ซึ่งเป็นการตลาดอย่างหนึ่งนั่นเอง
วิธีแยกแยะง่าย ๆ คือ ฟยอร์ดเทราต์จะมีสีเข้มกว่าที่ทำให้เห็นลายไขมันสีขาวแทรกระหว่างเนื้อได้ชัดเจน แต่จะมีไขมันตามลำตัวน้อยกว่าแซลมอน เนื่องจากไขมันส่วนใหญ่อยู่ที่ช่วงท้อง (เรียกได้ว่าลงพุง) และหากซื้อทั้งตัว ให้สังเกตว่าฟยอร์ดเทราต์ตัวอ้วนป้อมและหน้าสั้นกลมกว่า ในขณะที่แซลมอนหน้ายาวและรูปร่างเพรียว นอกจากจะอุดมไปด้วยโอเมก้า-3 ซึ่งดีต่อหัวใจและสมอง ปลาทั้งสองชนิดนี้ยังมีวิตามินดีที่ช่วยเสริมสร้างกระดูก และวิตามินเอที่ส่งเสริมสุขภาพตาในปริมาณมากอีกด้วย
ทวงคืนตัวตนให้กับฟยอร์ดเทราต์! ว่าแต่อร่อยเหมือนแซลมอนหรือเปล่า?
ฟยอร์ดเทราต์เนื้อแน่น ลีน มีรสชาติเข้มข้น และหวานกว่าแซลมอน เมื่อกัดเข้าไปจะสัมผัสได้ว่าเนื้อฟยอร์ดเทราต์ละมุนลิ้น มีรสสัมผัสที่ละเมียดไม ต่างจากแซลมอนที่นุ่มละลายในปาก ฟยอร์ดเทราต์เป็นปลาที่อร่อยทั้งในรูปแบบแล่ดิบและปรุงสุก เชฟนิยมนำมารมควัน หมัก ย่างและทอด เคล็ดลับคืออย่าปรุงให้โดนความร้อนนานจนสุกเกินไป เพื่อรักษาความชุ่มฉ่ำในเนื้ออันเป็นเอกลักษณ์
ฟยอร์ดเทราต์ ปลายอดตะกละแห่งมหาสมุทรแอตแลนติก
ณ ที่ซึ่งธารน้ำแข็งใสเย็นละลายไหลมาบรรจบกับกระแสน้ำเค็มริมชายฝั่งประเทศนอร์เวย์ ‘ฟยอร์ด’ (Fjord) คือบ้านของฟยอร์ดเทราต์ ปลาสีเงินทอประกายรุ้งแสนสวยที่พร้อมจะสวาปามทุกสิ่งเข้าปากไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์หรือพืช ด้วยเหตุนี้ ชาวนอร์เวย์จึงสร้างกระชังขนาดใหญ่ในมหาสมุทรให้ปลาได้มีพื้นที่กว้างขวางว่ายน้ำทะเลธรรมชาติ และหมั่นตรวจสอบความแข็งแรงของกระชังให้ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาระบบนิเวศให้ยั่งยืน เพราะฟยอร์ดเทราต์เป็นปลานักกินแสนตะกละที่ปรับตัวเก่ง อยู่ง่ายกินง่าย ได้ทั้งน้ำเค็ม น้ำจืด ทะเลสาบ แม่น้ำ และมหาสมุทร หากหลุดออกไปจะเป็นภัยต่อปลาธรรมชาติอื่น ฟยอร์ดเทราต์ที่อาศัยอยู่ในกระชังจึงได้รับอาหารประเภทปลาป่นและผักที่ผ่านมาตรฐานคุณภาพเข้มงวดของสหภาพยุโรป ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราไม่กังวลใจเรื่องสารเคมีตกค้าง
ไปซูเปอร์มาร์เก็ตคราวหน้า อย่าลืมมองหาสัญลักษณ์ SEAFOOD FROM NORWAY แล้วลองเอาสิ่งที่เรียนรู้กันวันนี้มาทดสอบดูว่าเราแยกแยะความแตกต่างระหว่างแซลมอนและฟยอร์ดเทราต์ได้มากแค่ไหน ขอทิ้งท้ายด้วยเคล็ดลับการทำฟยอร์ดเทราต์แบบปรุงสุกที่เชฟชาวนอร์เวย์แนะนำ ให้ได้เนื้อปลาที่นุ่มละมุนราวกับเนย ไม่แข็งกระด้าง — เลือกฟยอร์ดเทราต์ชิ้นพอดีมือแบบหั่นชิ้น โรยเกลือป่นและพริกไทยดำทั้งสองด้าน ทอดเอาด้านหนังลงในกระทะร้อนจัดทาน้ำมันมะกอกเป็นเวลา 1 นาที จากนั้นนำใส่เตาอบด้วยความร้อน 110° องศาเซลเซียส เป็นเวลา 7 นาที ก็จะได้เนื้อปลาฟยอร์ดเทราต์สีส้มอมชมพูที่สุกอย่างนุ่มนวล ร่อนเป็นชิ้นชุ่มฉ่ำเมื่อใช้ส้อมกด และหนังปลาที่กรอบฟู ราดด้วยซอสเทริยากิหรือเพสโตหอม ๆ ตามความชอบ น่าอร่อยขนาดนี้ ไม่ลองไม่ได้แล้ว!
###
เกี่ยวกับสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์
สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) เป็นบริษัทมหาชนภายใต้กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และการประมง สภาฯ ทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของนอร์เวย์ เพื่อพัฒนาและขยายตลาดอาหารทะเลส่งออกจากนอร์เวย์ เป็นตัวแทนผู้ส่งออกอาหารทะเลและอุตสาหกรรมอาหารทะเลของประเทศนอร์เวย์ เครื่องหมายการค้า “Seafood from Norway” เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงแหล่งกำเนิดของอาหารทะเลที่จับได้หรือเพาะเลี้ยงในแหล่งน้ำทะเลที่เย็นและใสสะอาดของประเทศนอร์เวย์
No comments:
Post a Comment